นับตั้งแต่ เรย์ คาวาคูโบะ นำคอลเลคชั่น COMME des GARCONS ไปแสดงที่ปารีสเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1981 เมื่อเธออายุอายุย่างสี่สิบปี ในวันที่ชื่อของนักออกแบบชาวญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่รู้จักของวงการแฟชั่นทางฝั่งตะวันตกมากนัก ผลงานของเธอเป็นคนละขั้วกับของดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Thierry Mugler และ Versace ซึ่งเป็นผู้นำของเสื้อผ้า แนวเซ็กซี่ในช่วงเวลานั้น อีกทั้งผู้คนที่มีชื่อเสียงต่างสวมใส่ชุดสูทไปทำงาน ใส่กางเกงผ้ายืดเข้าโรงยิม แต่สุดท้ายแล้ว เสื้อผ้าของเธอกลับสร้างปรากฏการณ์ใหม่จนถูกมองว่าเป็นแนวหน้าของขบถแห่งวงการแฟชั่น
“ฉันไม่เคยคิดจะก่อการปฏิวัติ ฉันมาปารีสเพื่อต้องการจะแสดงความแข็งแกร่ง และความงามในมุมมองของฉัน มันเป็นเพียงแค่ความคิดของฉันต่างจากคนอื่นๆเท่านั้นเอง”

40 ปีผ่านไป ดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคนที่อยู่ในยุคเดียวกับเรย์ คาวาคูโบะ ได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดของอาชีพไปแล้ว แต่เธอยังคงอยู่ตรงนี้ และทำงานของตัวเองเหมือนเดิม ซึ่งมีผู้หญิงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่าสร้างอิทธิพลต่อ แฟชั่นยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจนอย่างเรย์ ที่ทำงานด้วยการเริ่มต้นคิดค้นจากแก่น หรือพยายามสร้างแนวคิดใหม่ทุกๆซีซั่น เปลี่ยนวิธีคิดที่คนๆหนึ่งคิดว่าการแต่งกายคืออะไร
มีคนกล่าวว่า เสื้อผ้าของกอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ในยุคแรกๆ ให้ความสบายกับผู้สวมใส่แต่สร้างความอึดอัดให้ ผู้ที่เห็น โดยเฉพาะผู้ชายที่คลั่งไคล้กางเกงผ้ายืดที่ดูเซ็กซี่ เพราะผลงานของเรย์ไม่เคยมุ่งสร้างความยั่วยวนด้านร่างกาย โทนสีของเสื้อผ้าจะเป็นโทนขาวดำและมีโทนเทาผสมลงไปบ้างเล็กน้อย คนที่เห็นพูดกันว่า เธอคือ ‘ผู้คิดค้น’ สีดำ อย่าง แท้จริง
เรย์มองว่าเด็กสาวชาวญี่ปุ่นมักจะแสดงตัวตนผ่านแฟชั่นเฉพาะตัวอยู่แค่ไม่นาน คือช่วงก่อนจะแต่งงาน มีชีวิตคู่ หลังจากนั้นสูญเสียตัวตน คือถ้าไม่หายไปในเงามืดก็ถูกกลืนหายไปอยู่ในสูทชาเนล แต่ตอนที่เรย์เริ่มต้นทำเสื้อผ้าในช่วง ปี 1970 เธอบอกว่าจะทำเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงที่ไม่ไขว้เขวไปตามความคิดของสามี

เรย์แต่งงานกับเอเดรียน จอฟฟ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1992 ณ ศาลากลางกรุงปารีส เจ้าสาวสวมกระโปรงสีดำและเสื้อเชิร์ตสีขาวธรรมดา เรย์ยังย้ำแนวคิดเรื่องเสื้อผ้าและตัวตนของผู้หญิงอีกครั้งในการสัมภาษณ์กับนิตยสารว่า “ธรรมเนียมนิยมอย่างการแต่งงาน ไม่ควรมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของเรา” ซึ่งเธอไม่ได้หมายถึงแค่สไตล์การแต่งตัว แต่รวมถึงรายละเอียดทุกอย่างในการใช้ชีวิต เพราะหลังแต่งงานเธอยังใช้ชีวิตอยู่ที่โตเกียวในอพาร์ทเม้นท์ที่ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่และร้านของเธอในย่านอาโอยาม่าที่เธอเดินไปทำงานได้โดยไม่มีใครรู้ว่าที่พักของเธออยู่ตรงไหน ส่วนจอฟฟ์ทำงานอยู่ที่ปารีสเป็นหลัก ทั้งคู่พบกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง และช่วงพักระหว่างคอลเลคชั่น พวกเขาจะแบ่งเวลาไปเที่ยวประมาณ 1 อาทิตย์ โดยจะเลือกสถานที่ซึ่งอยู่นอกสายตาคนในวงการแฟชั่น เช่น Yamen หรือ Romania

ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกในอาชีพของเธอ เรย์กล่าวเสมอว่าผู้คนจะรู้จักเธอผ่านผลงานเสื้อผ้าของเธอเท่านั้น พนักงาน ทุกคนเคารพ เชื่อฟังและยำเกรงเธอมาก บทบาทหนึ่งของจอฟฟ์ที่พูดได้ 5 ภาษา และพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่อง จึงรวมถึง การเป็นล่ามส่วนตัว และทำให้ผู้คนเข้าใจภรรยาเขาง่ายขึ้น จนในช่วงหลังที่เธอไม่ค่อยออกกล้องหรือให้สัมภาษณ์มากนัก และยังเลิกออกมาโค้งขอบคุณหลังโชว์อีกด้วย
เรย์เติบโตมาในช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวต้องเรียนรู้เพื่อยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1960 ตอนอายุ 22 เธอได้ออกจากบ้านโดยไม่บอกครอบครัวว่าจะไปไหนหรือทำอะไร และย้ายเข้าไปอยู่อพาร์ทเม้นท์แชร์กับคนอื่นในย่านฮาราจูกุ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นย่านที่ค่อนข้างซอมซ่อ มีคลับและร้านบูติคที่เหล่าวัยรุ่นผู้นิยมเจาะตามตัว แต่งตัวแนวสตรีท และแฟชั่นประหลาดๆ มาจับกลุ่มสังสรรค์กัน
เธอยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่สนใจกฎระเบียบแต่ก็ชอบขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์ เกือบทุกคำพูดที่ เรย์พูดถึงตัวเองมักจะมีความย้อนแย้งขัดกันเองและไม่ต้องการถูกจำกัดความ และเธอก็สามารถใช้ความย้อนแย้งใน ตัวเองที่เป็นทั้งขบถและผู้สนใจความรู้เพื่อสร้างผลงานเสื้อผ้าที่ดูหลุดกรอบได้อย่างน่าอัศจรรย์

ช่วงเริ่มต้นการทำงานเรย์ไม่ได้คิดถึงความสำเร็จทางอาชีพ เธอแค่อยากเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ งานแรกที่ทำคือเป็น สไตลิสต์ ในฝ่ายโฆษณาของ Asahi Kasei ผู้ผลิตสิ่งทอ ด้วยตัวตนที่ชัดเจน หัวหน้าของเธอขณะนั้นยอมให้เธอไม่ต้องแต่งตัวตามพนักงานบริษัททั่วไป รวมถึงให้อิสระในการเลือกหาของประกอบฉากและชุดสำหรับการถ่ายรูปโฆษณา
3 ปีต่อมา Atsuko Kozasu เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่ภายหลังกลายเป็นนักข่าวแฟชั่นผู้มีอิทธิพลและเป็นคนแรกๆที่ส่งเสริม กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ได้สนับสนุนให้เรย์ออกมาทำงานเป็นสไตลิสต์อิสระ ทำให้เธอได้เริ่มออกแบบเอง เพราะเวลาที่หาเสื้อผ้าที่เหมาะกับงานไม่ได้เธอจะทำเอง ซึ่งเธอพูดเสมอว่า ดีใจที่ไม่เข้าเรียนในโรงเรียนสอนแฟชั่น หรือฝากตัวเข้าทำงานกับใคร เพราะในตอนท้ายแล้วถึงเธอจะเย็บ หรือตัดแพทเทิร์นไม่ได้ แต่เธอก็ไม่มีกรอบความคิดให้ต้องลบล้าง หรือไม่มีอาจารย์ให้ต้องพยายามก้าวข้าม
ปี 1969 งานสไตลิสต์กลายเป็นงานเสริม เมื่อเธอเริ่มทำเสื้อผ้ากีฬาสำหรับวัยรุ่นขายตามร้านที่สรรหาสินค้าที่พิเศษและโดดเด่นมาวางจำหน่าย อย่างร้าน Belle Boudior ในกินซ่า ตอนนั้นเธอเช่าออฟฟิศที่สตูดิโอกราฟฟิกดีไซน์แห่งหนึ่ง และจ้างผู้ช่วยจำนวนหนึ่งมาช่วยงาน
Tsubomi Tanaka ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายการผลิตของ กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ เป็นคนที่อยู่กับเรย์มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ตอนแรกๆที่เจอกับเรย์ ทานากะเป็นเพียงเด็กสาวจากต่างจังหวัดที่มาทำงานในร้านขายของย่านฮาราจูกุ เธอรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีรัศมีบางอย่างออกมาจากตัวจนทำให้อยากรู้จัก ทานากะเล่าถึงการทำงานกับเรย์ว่า ระบบการทำงานที่นี่เป็นเหมือนใยแมงมุมที่แสนซับซ้อน การสั่งงานที่สั้น กระชับ ดูไม่แยแส และดูวางเฉยของเรย์ ทำให้พนักงานของเธอ โดยเฉพาะเหล่าช่างแพทเทิร์นต้องค้นหาคำตอบจากภายในตัวเองแทนที่จะมองหาจากเรย์ เพื่อค้นพบ ‘อะไรใหม่ๆ’

“งานนี้ยากมาก ฉันต้องมองเข้าไปให้ลึกและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพราะเธอพูดน้อยเหลือเกิน แต่ในความ เครียดนั้นก็ให้อะไรหลายๆอย่างให้ค้นพบเสมอ และฉันก็ยังรู้สึกเร้าใจกับคอลเลคชันต่างๆที่ทำ เพราะแบบนี้ฉันถึงอยู่ได้ นานขนาดนี้”

เช่นเดียวกับ Yoneko Kikuchi - Chief Patterner ของ กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ผู้มีประสบการณ์ในบริษัทมากว่า 30 ปี อธิบายขั้นตอนที่ยากลำบากและแปลกประหลาดกว่าจะมาเป็นแต่ละคอลเลคชั่นได้ว่า ต้องเริ่มต้นจากจินตนาการ หรือบางครั้งเพียงแค่สัญชาตญาณที่เรย์ต้องการในผลงานหลัก บางครั้งเธอบอกมาเหมือนเป็นปริศนาธรรมโดยจะให้คำใบ้กับช่างแพทเทิร์น บางครั้งก็มาในรูปของการเขียนลวกๆ กระดาษที่ขยำทิ้งแล้ว หรือให้คำที่ยากจะเข้าใจ เช่น ‘ปลอกหมอนกลับด้าน’ ที่พวกเขาต้องนำคำใบ้เหล่านี้มาแปลความหมายอย่างสุดความสามารถเพื่อให้กลายเป็นผ้ามัสลินซึ่งเป็นพิมพ์เขียวสามมิติของชุด โดยส่วนมากร่างแรกจะเป็นรูปธรรมมากเกินไป เรย์มักจะบอกทุกคนว่า อย่าออกแบบโดยยึดตามคำสั่งมากเกินไป ทีมงานเรียกกระบวนการทำงานโดยนั่งตีความ ถกปริศนาธรรมต่อจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจนี้ว่า ‘catchball’ แต่เมื่อใดที่เส้นตายสำหรับคอลเลคชั่นใกล้เข้ามาและเรย์ยังไม่พอใจ บรรยากาศในห้องตัดเย็บจะชวนสยองที่สุด

“พวกเราอยากทำให้เธอพอใจ และบางครั้งมันก็ยากสำหรับช่างแพทเทิร์นที่มาจากบริษัทอื่น เพราะพวกเขา ต้องการให้คุณบอกความต้องการทุกอย่าง แต่เมื่อเราไม่สามารถทำอย่างนั้นให้คนละทิ้งรูปแบบการทำงานเดิมได้ ทำให้ บางคนก็ออกจากที่นี่ไป” คิคุจิกล่าวสรุป
จริงๆแล้วงานดีไซน์ในช่วงต้นๆของเรย์ยังไม่ซับซ้อนเป็นนามธรรมแบบนี้ เธอเล่าว่าเป็นเพียงชุดผ้ากันเปื้อนจากผ้าเดนิม ที่ออกมาแล้วถูกใจคนมาก เธอจึงทำไว้หลายเวอร์ชั่น จุดเก๋ที่สุดของกระโปรงนั้นคือโลโก้แบรนด์ COMME des GARCONS ที่พิมพ์ลงบนผ้า ซึ่งเรย์ออกแบบเลือกฟอนต์เอง และใช้รูปดาวแทนสัญลักษณ์ซิดิลลาตรงตัว C จนถึงยุค 1980 เรย์จึงหันมาสร้างแนวคิดของเสื้อผ้าที่เหมือนการสวมใส่ที่เป็นนามธรรมขึ้นมา



ทุกวันนี้เสื้อผ้าไลน์ต่างๆของกอมม์ เดส์ การ์ซงส์มีตัวตนที่ชัดเจน โลกเล็กๆภายในตู้เสื้อผ้าของเธอที่ทำให้คอนเซ็ปท์บนรันเวย์เรียบง่ายขึ้น เพื่อให้เข้าถึงสังคมหมู่มากซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทำให้เห็นว่า เรย์สามารถสร้างสรรค์เสื้อผ้าและทำธุรกิจควบคู่กันได้ จึงทำให้กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ยังคงก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่คิดกับดักใดๆ
“ฉันไม่ใช่ศิลปินแต่เป็นนักธุรกิจ... อืม อาจจะเป็นศิลปิน/นักธุรกิจก็ได้” นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผลงานของ เรย์ คาวาคูโบะ ตอบโจทย์ลูกค้าได้กว้างขึ้น ทุกคนสามารถเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองได้ภายใต้แบรนด์นี้
Credit Content : The New Yorker, The Misfit